การดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
- ขณะที่มีฝนตกฟ้าคะนอง ควรหลีกเหลี่ยงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ โทรทัศน์ วีดีโอ เครื่องเสียง คอมพิวเตอร์ เป็นต้น และเพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้ชำรุดเสียหายเมื่อเกิดฟ้าผ่าขึ้นในบริเวณใกล้เคียง ควรปิดสวิตซ์ที่เครื่องและถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน ไม่ควรปิดที่รีโมท เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้ายังทำงานอยู่ และที่สำคัญ หากเกิดฟ้าผ่าขึ้นในบริเวณใกล้เคียง อาจจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้เสียหายได้
- นอกจากนี้ การปิดโทรทัศน์จากรีโมท เครื่องยังคงใช้ไฟอยู่ประมาณ 5 วัตต์ หากทำเช่นนี้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง จะสิ้นเปลืองไฟโดยเปล่าประโยชน์ 0.060 หน่วย/เครื่อง หรือคิดเป็นเงิน 0.21 บาท/เครื่อง* ดังนั้นหากปิดเครื่องด้วยรีโมทเพียงอย่างเดียวสัก 1 ล้านเครื่องเป็นเวลา 12 ชั่วโมง จะสิ้นเปลืองไฟรวมประมาณ 60,000 หน่วย หรือคิดเป็นเงิน 2.1 แสนบาท
หมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าบริเวณนอกบ้าน
-เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่บริเวณที่โล่งแจ้งมีโอกาสชำรุดจากการถูกแดดส่องและน้ำฝนได้ ดังนั้นจึงต้องหมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยปฏิบัติได้ง่ายๆดังนี้
ตรวจเช็คกริ่งประตู - หากมีรอยแตกชำรุดเสียหายหรือพบสายไฟมีรอยฉีกขาดควรเปลี่ยนใหม่ และควรเลือกกริ่งประตูแบบชนิดกันน้ำที่มีฝาครอบปิด พร้อมทั้งยาแนวซิลิโคนรอบกริ่งอีกชั้นหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด
ตรวจดูโคมไฟสนามหรือโคมไฟหน้าบ้าน - ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงควรใช้หลอดเกลียวที่ให้ความสว่างประมาณ 500 – 600 ลักส์** ซึ่งเพียงพอกับความต้องการปละช่วยประหยัดไฟได้กว่า 480 บาท/ปี และสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การติดตั้งสายดินโคมไฟเพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว
ตรวจเช็คสายไฟและปลั๊กไฟที่อยู่บริเวณนอกบ้าน - ควรตรวจสอบสายไฟที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี หากพบสิ่งผิดปกติ ปลั๊กไฟชำรุด หรือใช้งานมานาน ควรติดต่อช่างไฟฟ้าโดยตรงเพื่อเปลี่ยนสายไฟและปลั๊กไฟ โดยเลือกใช้ขนาดและชนิดที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ที่สำคัญต้องเลือกวัสดุที่ทนต่อแสงแดดและกันน้ำได้ด้วย เพราะหากอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งานอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้
การดูแลรักษาและการตรวจเซ็คอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้า อีกทั้งยังช่วยให้ประหยัดพลังงาน รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน
|